
โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าชุมชนสู่การต่อยอดการขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนตำบลดอนงัว อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
อัตลักษณ์ชุมชน เป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ก่อตัวขึ้นมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ที่มีความโดดเด่น น่าสนใจ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถบ่งบอกความเป็นตัวตนของชุมชน เกิดการการพัฒนาควบคู่ไปกับการคำนึงถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม (อินทิรา พงษ์นาค. 2557) โดยมีคุณลักษณะเฉพาะตัวซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของลักษณะเฉพาะบุคคลสังคม ชุมชนหรือประเทศนั้น ๆ ซึ่งอาจรวมถึง เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น และศาสนา ฯลฯ ซึ่งมีคุณลักษณะที่ไม่ทั่วไปหรือสากลกับสังคมอื่น ๆ หรือเป็นลักษณะที่ไม่เหมือนกับของคนอื่น ๆ (อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. 2546) ซึ่งอัตลักษณ์ชุมชน เป็นรากเหง้าหรือวัฒนธรรมทางสังคมที่ถูกหลอมให้เกิดขึ้นมาและใช้ในการยึดเป็นภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณีในการปฏิบัติในสังคมนั้น ๆ และมีความโดดเด่นหรือความแตกต่างกับขนมธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมในสังคมอื่น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะกลุ่มชุมชน (ชลธิชา มาลาหอม. 2555)
ชุมชนตำบลดอนงัว อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ตั้งห่างจากที่ว่าการอำเภอบรบือทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 10 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือนในพื้นที่ 1,100 ครัวเรือน มีประชากร รวมทั้งหมด 4,100 คน ดังนี้ หมู่ที่ 1 บ้านดอนงัว จำนวน 133 ครัวเรือน หมู่ที่ 2 บ้านดอนงัว จำนวน 136 ครัวเรือน หมู่ที่ 3 บ้านดอนงัว จำนวน 112 ครัวเรือน หมู่ที่ 4 บ้านดอนงัว จำนวน 158 ครัวเรือน หมู่ที่ 5 บ้านหนองขาม จำนวน 80 ครัวเรือน หมู่ที่ 6 บ้านหนองขาม จำนวน 122ครัวเรือน หมู่ที่ 7 บ้านหนองขาม จำนวน 111 ครัวเรือน หมู่ที่ 8 บ้านแสบง จำนวน 137 ครัวเรือน หมู่ที่ 9 บ้าน ดอนงัว จำนวน 10 ครัวเรือน และ หมู่ที่ 10 บ้านหนองขาม จำนวน 101 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลดอนงัวประกอบอาชีพเกษตรกร และนอกจากชุมชนชุมชนตำบลดอนงัวได้ประกอบอาชีพเกษตรกรแล้วนั้น สมาชิกในชุมชนยังได้บมีการรวมกลุ่มในการจัดทำผลิตภัณฑ์ของชุมชน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อการจำหน่ายในชุมชน
จากการลงพื้นที่ของคณะผู้จัดทำโครงการเพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนร่วมกับผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน พบว่า การดำเนินการของชุมชนเป็นการดำเนินการตามวิถีชีวิตของชุมชน การบริหารจัดการในเชิงระบบหรือเชิงธุรกิจเพื่อการค้าสร้างอาชีพและรายได้ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้น ความต้องการของชุมชน จึงต้องการการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน องค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการจำหน่าย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพื่อการสร้างมาตรฐานสินค้า การส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสื่อในการเรียนรู้ร่วมกับการพัฒนาทักษะสังคมของชุมชน โดยการเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ของชุมชน ทั้งอาจารย์ นักศึกษา ประชาชนในชุมชน จะนำความรู้และทักษะที่มีส่งเสริมให้ชุมชนหรือเกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่เป็นผลิตภัณฑ์แนวใหม่ร่วมสมัย และมีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมน ส่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านเครือข่ายออนไลน์ได้
ดังนั้น สมรรถภาพในการผลิตหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชนไทยส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันมาก โดยพัฒนามาจากภูมิปัญญา มีการผลิตเฉพาะชุมชนหรือผลิตสินค้าพิเศษที่โดดเด่นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากหมู่บ้านอื่นหรือถิ่นอื่นน้อยมาก ทั้งนี้ การมีผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าของแต่ละพื้นที่ที่คล้ายคลึงกันมากจะส่งผลลบต่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพราะไม่มีความเฉพาะที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ โดย จินตนา กาญจนวิสุทธิ์ (2562. น. 49) ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขในประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า ควรหาอัตลักษณ์ของสินค้าเพื่อสร้างเป็นจุดขาย การสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าเอง หรือเรื่องราวในผลิตภัณฑ์หรือแหล่งผลิต ก็สามารถเป็นแนวทางที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่สนใจ ดังนั้น “อัตลักษณ์” หรือ “เอกลักษณ์” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์หรือสินค้าชุมชนที่จะต้องหาความแตกต่าง สร้างความน่าสนใจก่อให้เกิดความรู้สึกน่าค้นหาแก่ผู้บริโภคให้ได้ อันจะนำไปต่อยอดสู่การสร้างและสื่อสารแบรนด์ของผลิตภัณฑ์สินค้านั้นๆ ให้เป็นที่สนใจแก่ผู้บริโภคอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันการทำตลาดออนไลน์ หรือ Online Marketing เป็นการทำงานเพื่อส่งเสริมธุรกิจหรือบริษัทในสื่อออนไลน์ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการในธุรกิจให้กลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ มากขึ้นนั่นเอง การทำการตลาดออนไลน์ที่รู้จักกันทั่วไป เช่น โฆษณาบน Google, Facebook, YouTube หรือแม้แต่การทำบล็อก (Blog) โดยในปัจจุบันสื่อออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่ง ที่ช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ยอดขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นได้ดีเป็นอย่างมาก ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่หันมาใช้การตลาดออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการทำการตลาดออนไลน์มีประโยชน์และข้อดีต่อธุรกิจหลายอย่าง คือ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย มีความหลากหลายในเนื้อหา วัดผลได้อย่างแม่นยำและน่าเชื่อถือ ลดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็น และเป็นการสื่อสารสองทาง
ดังนั้น การศึกษาและสร้างอัตลักษณ์ชุมชนที่มีความเฉพาะของท้องถิ่นเพื่อการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านเพลตฟอร์มออนไลน์ จะเป็นแนวทางในการศึกษาบริหารจัดการ การสร้างอัตลักษณ์ที่มีความเฉพาะของชุมชน และการบริหารจัดการขายผ่านแพรตฟอร์มออนไลน์ จะก่อนให้เกิดความโดดเด่นเฉพาะของชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะด้านอัตลักษณ์ของชุมชนและส่งเสริมการบริหารจัดการขายผ่านแพรตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ของประชาชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : อาจารย์ ดร.อภิชาติ เหล็กดี
SDG ที่เกี่ยวข้อง



















