การพัฒนาศักยภาพการจัดการต้นแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้กลุ่มผู้ผลิตข้าวฮางทุ่งนาทอง

การพัฒนาศักยภาพการจัดการต้นแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้กลุ่มผู้ผลิตข้าวฮางทุ่งนาทอง

จากสภาวการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโลนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยจนถึงระดับเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนและท้องถิ่นขาดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าการมีรายได้ที่ลดลง การถูกเลิกจ้างออกจากงานและต้องกลับคืนสู่ภูมิลำเนาถิ่นฐานชนบท ตลาดชุมชนบางแห่งมีการปิดตัวลงตามนโยบายของรัฐบาล จำนวนลูกค้าที่มาเยี่ยมและเที่ยวชมลดลง คำสั่งซื้อพืชผักผลไม้ที่ปลูกลดลง รายได้จากการดำเนินวิสาหกิจชุมชนลดหายไปเป็นอย่างมาก หลังภาวะวิกฤติโควิดดังกล่าว ชุมชนและท้องถิ่นกำลังเผชิญการปรับตัวรับกับภาวะปรกติใหม่ การกำหนดทิศทางและอนาคตของชุมชน การสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชนและท้องถิ่นคาดว่าจะเป็นทางออกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังภาวะวิกฤติโควิดได้
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มียุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และบริการวิชาการชั้นนำ โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน จึงนำมาสู่การสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งเผยแพร่และถ่ายทอดนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ลงชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหล่าจั่น หมู่ 10 ตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของคณะผู้จัดทำโครงการ โดยมีเป้าประสงค์ในการเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน ศูนย์กลางการให้บริการวิชการบนพื้นฐานทางวิชาการจากเครือข่ายและเป็นที่พึ่งพาของชุมชน รวมถึงผู้ที่สนใจสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากศูนย์เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้นนักศึกษายังสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนการสอนในห้องเรียนลงสู่พื้นที่เพื่อฝึกฝนเชิงปฏิบัติในการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
จากการที่จังหวัดมหาสารคามเป็นฐานเกษตรยั่งยืนทางด้านเกษตรผสมผสาน มีการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิครอบคลุมในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอกุดรัง อำเภอบรบือ อำเภอวาปีปทุม และอำเภอแกดำ เป็นจำนวนมากถึง 204,890 ไร่ และมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์สามารถสร้างฐานความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนและชุมชนได้อย่างยั่งยืน มีการกระจายอาหารผ่านตลาดอาหารอินทรีย์หรือตลาด “สีเขียว” เชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้โดยตรง การพัฒนาและการแปรรูปข้าวหอมมะลิกลายเป็นข้าวฮางและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายของทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยกันพัฒนา ดังนั้น คณะผู้จัดทำโครงการจึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายคือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหล่าจั่น หมู่ 10 ตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เพื่อยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านข้าวฮางโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหล่าจั่น หมู่ 10 ตำบลแกดำ อำเภอ แกดำ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหล่าจั่น เริ่มจัดตั้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 และได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 จากการสนับสนุนของมหาวิทยาราชภัฏมหาสารคาม แรกเริ่มกลุ่มได้ทำผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ ผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้า ทางหน่วยงานที่สนับสนุนผลักดันให้ไปขอใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม และประธานกลุ่มฯ ได้นำผ้าไปคัดสรร 4 รอบ ก็ไม่ผ่าน โดยรอบที่ 1 ลายไม่ตรงกัน รอบที่ 2 สีเคมีไม่ได้ รอบที่ 3 ลวดลายและสีเคมีไม่ผ่าน รอบที่ 4 เส้นด้ายหด สมาชิกกลุ่มเกิดความท้อ จึงเสนอทางหน่วยงานที่สนับสนุนให้เปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เนื่องจากประธานกลุ่มฯ และคนในพื้นที่ไม่ถนัดการทอผ้า ผลิตผ้าไปก็ใช้ไม่ได้ ลวดลายก็ไม่โดดเด่น จึงขอเปลี่ยนเป็นการทำข้าว ด้วยคนในพื้นที่ทำข้าวอยู่แล้ว ดังนั้นกลุ่มและสมาชิกจึงหันมาทำข้าว ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แต่ช่วงนั้นข้าวมีราคาถูกขายไม่ได้ราคา จึงหาวิธีการคิดค้นกันว่าจะทำยังไงให้ขายข้าวได้ราคา สามารถช่วยสมาชิกในกลุ่มได้ บังเอิญเจอแม่ครูสอนทำข้าวฮาง ได้มาสอนทำข้าวฮางถึงกลุ่ม ซึ่งข้าวฮางมีจุดเด่นทางโภชนาการที่มีคุณค่าสูง อุดมไปด้วย วิตามินบี1 บี2 ไนอะซิน ธาตุเหล็ก แคลเซียม สาร GABA (Gamma Amino Butyric Acid) ช่วยลดความดันโลหิตและปริมาณคอเลสเตอรอล มีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งมีธาตุแมงกานีสในปริมาณสูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ข้าวฮางงอกยังมีค่าการเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ และเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญในในการควบคุมระบบประสาท รวมทั้งกล้ามเนื้อ ข้าวฮางจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่รักสุขภาพโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไขมันสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคไต เป็นต้น ตั้งแต่นั้นมาทางกลุ่มจึงเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง คือ แบรนด์ข้าวฮางทุ่งนาทอง ปีแรกไม่มีตลาด ทางกลุ่มจึงพากันไปตั้งบูธติดป้ายจัดจำหน่ายที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม ปีแรกผลิตประมาณหนึ่งตัน ปรากฏว่าขายหมด โดยไม่มีการใช้ช่องทางออนไลน์ ปีที่ผ่านมาปรากฏว่าทำยอดเพิ่ม โดยไม่ได้ออกขายตามปกติ เนื่องลูกค้าที่เคยกินติดใจในความหอมของข้าวฮางได้โทรมาสั่งจากป้ายที่ติดไว้ที่ศาลากลางจังหวัด
จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการเบื้องต้น พบว่า ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหล่าจั่น หมู่ 10 มีความต้องการตามลำดับ ดังนี้ (1) นวัตกรรมทางการเกษตร เช่น การทำนาแปลงใหญ่ การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ที่หลากหลาย (2) การเผยแพร่ภูมิปัญญาการทำข้าวฮาง เช่น การประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ที่แพร่หลาย (3) การเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาข้าวฮาง เป็นต้น คณะผู้ดำเนินโครงการ เล็งเห็นถึงความสำคัญและบทบาทของวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหล่าจั่น หมู่ 10 ตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายและพื้นที่อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ หรือพื้นที่ทรัพยากรชุมชนที่มีการพัฒนายกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เพื่อให้เป็นต้นแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ นวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในการพัฒนาชุมชนสู่ความเข้มแข็ง สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน ก่อให้เกิดความสมดุล พอเพียง อันจะส่งผลต่อความสุข ความอบอุ่นของครอบครัว ความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนด้านความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน จนสามารถสร้างเป็นต้นแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านข้าวฮางได้สำเร็จ

ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธารีรัตน์ ขูลีลัง

SDG ที่เกี่ยวข้อง
SDGs RMU