
โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการอบแห้งสมุนไพรด้วยเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร จังหวัดมหาสารคาม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน
จังหวัดมหาสารคามเป็นหนึ่งในพื้นที่ส่วนขยายของโครงการเมืองสมุนไพร ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพร โดยได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเมืองสมุนไพรทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาค สร้างความมั่นคง ให้ประชาชนตั้งแต่การเริ่มต้นจาก ต้นทาง คือ มีรายได้จากการปลูกสมุนไพร กลางทาง คือ มีการนำวัตถุดิบสมุนไพรมาแปรรูปเป็นยา และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยโรงงานผลิตยาสมุนไพรมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ปลายทาง คือ มีการนำสมุนไพรมาใช้ในระบบบริการสุขภาพ จนสามารถพัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สามารถสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคตได้ โดยจังหวัดมหาสารคามมีเป้าหมายการพัฒนาเมืองสมุนไพรให้เป็นเมืองที่มีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้นำด้านการให้บริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร โดยเกษตรกรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้จากการปลูกสมุนไพรป้อนให้โรงงานผลิตยา ประชาชนเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพและราคาถูกปัจจุบันมีการส่งเสริมการปลูกพืชตามระบบมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับการผลิตพืชเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตสำหรับใช้เป็นอาหาร เช่น พืชผัก ผลไม้ พืชไร่ พืชสมุนไพร และเครื่องเทศ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการบริโภค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสวัสดิภาพ ซึ่งการผลิตพืชตามระบบมาตรฐาน GAP มีข้อกำหนด 8 ประการ 1. น้ำที่ใช้ต้องมาจากแหล่งน้ำที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต 2. พื้นที่ปลูกต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต 3. วัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องจัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่และใช้ตามคำแนะนำหรือตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร 4. การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว มีแผนควบคุมการผลิต การใช้ปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน 5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวมีความเหมาะสมและถูกสุขลักษณะตามความต้องการของตลาดหรือข้อกำหนดของลูกค้า 6. การพักผลผลิต การขนย้ายและการเก็บรักษาอย่าถูกสุขลักษณะ 7. สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจหรือได้รับการฝึกอบรม 8. บันทึกข้อมูลและการตามสอบ มีบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานในแต่ละด้านอย่างน้อย 2 ปี ของการผลิตติดต่อกันหรือตามความต้องการของลูกค้า
ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : อาจารย์ ดร.มลฤดี บุญยะศรี