
โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมในชุมชนและพร้อมต่อการแข่งขันในตลาดออนไลน์
รายละเอียดโครงการสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนหลักการและเหตุผล และส่วนสรุปผลการดำเนินงานโครงการ ดังนี้
1. หลักการและเหตุผล
การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น เป็นการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองตามระดับความต้องการและความพึงพอใจของผู้บริโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย สินค้า บริการ และความคิด นอกจากนี้ ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนยังหมายรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการยกระดับต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์จากการใช้ทรัพยากรพื้นถิ่นหรือทุนเดิมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ ภูมิปัญญา รากเหง้า อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ ตำนานเรื่องราว วิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณี และเครือข่ายชุมชนที่มีอยู่ โดยผสมผสานกับหลักในการบริหารธุรกิจ การรวมกลุ่มธุรกิจร่วม หลักการจัดการทรัพยกร หลักการตลาด การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการสื่อโซเซียล มีเดีย เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางธุรกิจ ช่วยลดต้นทุนของธุรกิจ และส่งเสริมรายได้ในชุมชนตลอดจนสามารถเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนในอนาคตได้
ในปีงบประมาณ 2565 คณะกรรมการดำเนินโครงการได้ขยายผลเพื่อต่อยอดการพัฒนาชุมชนภายใต้โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมในชุมชนเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งกำหนดเขตพื้นที่อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนฟักทอง อสม. เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปผ้าไทย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนสมุนไพรศรึสุข เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เพาะปลูกและจำหน่ายสมุนไพรทั้งแบบสดและแบบแห้ง ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 2 กลุ่มมีวัตถุดิบหลักที่จะเป็นประโยชน์ต่อกันในการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ซึ่งกันและกัน โดยในการสร้างเครือข่ายทำธุรกิจร่วมกันนั้น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมอนฟักทอง อสม.จะเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ถุงหอมสมุนไพร และริสแบนสมุนไพรกันยุง ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มได้นำเอาผลิตภัณฑ์ใหม่พร้อมด้วยป้ายห้อยผลิตภัณฑ์ที่ทางโครงการออกแบบให้ คือ ถุงหอมสมุนไพร ไปแสดงในงานรับเสด็จที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันที่ 20 เมษายน 2565 และจำหน่ายในงาน ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 คณะกรรมการโครงการลงพื้นที่สำรวจและได้รับคำร้องขอจากการพูดคุยกับคนในชุมชนต.เมืองเตา อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ถึงความต้องการที่จะต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว ได้แก่ ขนมข้าวเขิบที่เป็นขนมโบราณท้องถิ่นของชุมชน อีกทั้ง ยังเป็นขนมที่มีข้าวเป็นวัตถุดิบหลักซึ่งข้าวถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรมีชื่อเสียงของ ต.เมืองเตา โดยคนในชุมชนมีความต้องการยกระดับข้าวเขิบให้กลายเป็นของฝากจากชุมชนที่มีตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ ซึ่งในการพัฒนาส่งผลให้ชุมชนได้สูตรขนมข้าวเขิบในรูปแบบใหม่ รสชาติใหม่ และตราสินค้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยและออกแบบเชื่อมโยงกับการใช้ผ้าท้องถิ่นที่ได้จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่นเพื่อให้เพิ่มความน่าสนใจและสร้างการจดจำแก่ผู้ซื้อ และเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนเพิ่มรายได้ให้แก่กันและกัน
ดังนั้น คณะกรรมการดำเนินโครงการได้เล็งเห็นความสำคัญในการขยายผลรูปแบบการพัฒนาที่จะนำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และการสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมในชุมชนไปถ่ายทอดและบริการวิชาการแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาต่อยอดและดูแลธุรกิจของชุมชนไปได้อย่างยั่งยืน จึงได้มีการยกระดับการจัดโครงการให้เป็นโครงการ “ยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมในชุมชนและพร้อมต่อการแข่งขันในตลาดออนไลน์” ในเขตพื้นที่ ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่ร้องขอจากความต้องการของคนในชุมชน และจากการสำรวจพื้นที่ พบว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพพร้อมทั้งทางด้านวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง คือ ชุมชนมีวัตถุดิบไข่เป็ด และวัตถุดิบสมุนไพร รวมถึงความตั้งใจและต้องการของคนชุมชนนำโดยนายวีระโชติ อ่อนบัวขาว ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 และกลุ่มวิสาหกกิจชุมชนน้องใหม่ คือ กลุ่มแปรรูปอาหารมะค่าหมู่ 3 พร้อมเชื่อมโยงพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตขนมมะค่า กอ.ไก่ และวิสากิจชุมชนสมุนไพรแม่บ้านเกษตรกรมะค่าทรัพย์ทวี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่วางจำหน่ายเพียงในตลาดชุมชนให้เป็นที่รู้จักด้วยแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ และช่วยเพิ่มรายได้เสริมให้แก่คนชุมชน โดยการดำเนินกิจกรรมโครงการในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 (ต้นน้ำ) : การขยายพื้นที่ชุมชนใหม่ โดยการลงพื้นที่ศึกษาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือธุรกิจชุมชนเพื่อเชื่อมโยงความเป็นไปได้ทางด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมาสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ระยะที่ 2 (กลางน้ำ) : ออกแบบและพัฒนาตราสินค้าและการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ใหม่
ระยะที่ 3 (ปลายน้ำ) : พัฒนาทักษะจำเป็นทางด้านดิจิทัลเพื่อการทำการตลาดและการขายออนไลน์
2. สรุปผลการดำเนินงานโครงการ
2.1 ระยะที่ 1: (ต้นน้ำ) การขยายพื้นที่ชุมชนใหม่ โดยการลงพื้นที่ศึกษาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือธุรกิจชุมชนเพื่อเชื่อมโยงความเป็นไปได้ทางด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมาสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ผลการดำเนินงานโครงการตามระยะที่ 1 เป็นการขยายพื้นที่ชุมชนใหม่ โดยการลงพื้นที่ศึกษาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือธุรกิจชุมชนเพื่อเชื่อมโยงความเป็นไปได้ทางด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมาสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชน สรุปผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ 1 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มจากรวมกลุ่มธุรกิจภายในชุมชน
จากการดำเนินการ คณะกรรมการโครงการได้จัดดำเนินการกิจกรรมศึกษาศักยภาพในพื้นที่ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พบว่า ในชุมชนตำบลมะค่า คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำนาข้าวเป็นหลัก มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง คือผู้ใหญ่บ้านตำบลมะค่าหมู่ที่ 3 และเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารมะค่าหมู่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชนผลิตไข่เค็มจำหน่าย แต่มีมีการผลิตและจำหน่ายฟองละ 8 บาท วางจำหน่ายทั่วไปไม่มีตราสินค้า มีช่องทางการจัดจำหน่ายเพียงแค่ในตลาดชุมชนและวางจำหน่ายในงานแสดงสินค้าที่กลุ่มวิสากิจชุมชนมีโอกาสได้เข้าร่วม นอกจากนี้ พบว่า ในชุมชนยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตขนมมะค่า กอ.ไก่ ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีความสามารถในการทำขนม และปัจจุบันผลิตขนมเปี๊ยะจำหน่ายภายในจังหวัดและรับจัดเป็นอาหารว่างให้กับหน่วยงานต่างๆ
ทั้งนี้ จากการระดมความคิดของคนในชุมชน จึงเกิดความร่วมมือของระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์จากการนำเอาวัตถุดิบและทรัพยากรในชุมชน คือ ข้าว ไข่เค็ม และทรัพยกรบุคคลในกลุ่มทำขนมที่มีทักษะพร้อม มาพัฒนาขนมข้าวแต๋นไข่เค็ม ขนาดพอดีคำ อร่อย สะดวกกินง่าย เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับชุมชน ซึ่งชุมชนคาดหวังที่จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น จำหน่ายได้ง่ายไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มลูกค้ามากเกินไป สามารถวางขายได้ทั่วไปและสามารถขายผ่านทางออนไลน์ได้ อีกทั้ง ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนจากการซื้อขายวัตถุดิบท้องถิ่นในชุมชน และคนในชุมชนหรือสมาชิกกลุ่มรวมกลุ่มกันในการผลิตขนมข้าวแต๋นมีรายได้เสริม
นอกจากนี้ จากการบูรณาการเรียนการสอนแก่นักศึกษาสาขาวิชาธุรกิจดิจิทัลกับรายวิชาการเงินธุรกิจ นักศึกษาได้ร่วมกับชุมชนในการระดมความคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นไข่เค็มในทุกขั้นตอน และช่วยชุมชนในการเก็บข้อมูลต้นทุนวัตถุดิบ การผลิต การผลิตตราสินค้า และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกำหนดราคาขาย และจากการสอบถามไปยังชุมชน พบว่า ชุมชนนำองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับการอบรมไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นไข่เค็มเพื่อจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้ปรับปรุงสูตรในการทำข้าวแต๋นเพิ่ม โดยการนำเอาสมุนไพรและผลไม้ในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสมในการมูลข้าวก่อนที่จะนำไปขึ้นรูปในพิมพ์และทอด เช่น น้ำแตงโมง น้ำใบเตย น้ำอัญชัน เป็นต้น และทดลองใช้ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวก่ำ มาใช้แทนข้าวเหนียวปกติ (ภาพจากชุมชน ข้อมูล ณ วันที่ 27 เมษายน 2567)
2.2 ระยะที่ 2: (กลางน้ำ) ออกแบบและพัฒนาตราสินค้าและการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ใหม่
ผลการดำเนินงานโครงการตามระยะที่ 2 เป็นการดำเนินงานเพื่อออกแบบตราสินค้าและเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับข้าวแต๋นไข่เค็ม เพื่อให้วัตถุประสงค์ของโครงการในข้อที่ 1 สมบูรณ์
จากการดำเนินงาน พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบตราสินค้า การใช้สี การใช้รูป การใช้คำในการเพื่อออกแบบชื่อของตราสินค้าและสโลแกนสินค้า รวมไปถึงการเลือกบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมและดึงดูดความสนใจลูกค้า โดยจากการระดมความคิดในกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติของคนในชุมชน ได้ข้อสรุปว่า ชื่อของยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ คือ ข้าวแต๋นMK ซึ่งอักษร MK ย่อมาจากคำว่า มะค่า มีตัวการ์ตูนข้าวแต๋นเป็นสัญลักษณ์บนสลาก มีสโลแกนของผลิตภัณฑ์ คือ อร่อยถูกปาก รสชาติถูกใจ สลากมีโทนสีเหลืองออกส้มน้ำตาล เพื่อให้ดูน่ารับประทานและเป็นโทนสีของไข่เค็ม บนสลากมีมีรูปข้าวแต๋น รูปไข่เค็ม รายละเอียดที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบสำคัญ ที่อยู่และเบอร์ติดต่อผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ และวันหมดอายุ ทั้งนี้ สลากผลิตภัณฑ์จะถูกผลิตในรูปแบบของสติ๊กเกอร์กระดาษมันและมีสีสันตามที่ออกแบบ ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ จะเป็นถุงซิปล็อคกระดาษคราฟ เพื่อให้ยังคงคุณภาพความกรอบของขนมให้ได้นานยิ่งขึ้นหลังจากที่มีการเปิดรับประทานแล้ว รวมถึงการเลือกใช้กระดาษคราฟเพื่อสะท้อนถึงความรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
2.3 ระยะที่ 3: (ปลายน้ำ) พัฒนาทักษะจำเป็นทางด้านดิจิทัลเพื่อการทำการตลาดและการขายออนไลน์
การดำเนินการในระยะที่ 3 เป็นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาทักษะการทำการตลาดและการขายออนไลน์ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อต่อยอดการทำการตลาดออนไลน์ให้แก่ชุมชน
จากการศึกษาศักยภาพพื้นที่ในตอนแรก พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการยังไม่มีช่องทางในการขายออนไลน์ของกลุ่ม ในการจัดจำหน่ายไข่เค็มมีเพียงช่องทางการจำหน่ายในตลาดชุมชนหรืองานแสดงสินค้า และจากการดำเนินงานกิจกรรมที่ 3 ได้พัฒนาทักษะการทำการตลาดและการขายแบบออนไลน์ เช่น การถ่ายภาพสินค้า การออกแบบคอนเท้นท์เพื่อการขายสินค้าทั้งรูปแบบภาพนิ่งและวิดีโอ รวมถึงการเผยแพร่เป็นไลฟ์สด ในหลากหลายช่องทางบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ได้แก่ Facebook หรือ Tiktok เป็นต้น
นอกจากนี้ การดำเนินงานโครงการตามวัตถุประสงค์ที่ 3 เพื่อบูรณาการจัดการเรียนการสอนกับการบริการวิชาการ ซึ่งจากการดำเนินการกิจกรรมโครงการ ได้มีการบูรณาการเรียนการสอนแก่นักศึกษาสาขาวิชาธุรกิจดิจิทัลกับรายวิชาการเงินธุรกิจ นักศึกษาได้ร่วมกับชุมชนในการระดมความคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นไข่เค็มในทุกขั้นตอน และช่วยชุมชนในการเก็บข้อมูลต้นทุนวัตถุดิบ การผลิต การผลิตตราสินค้า และบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการกำหนดราคาขาย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับชุมชนระดมความคิดออกแบบตราสินค้า และการฝึกทักษะการทำการตลาดและการขายในรูปแบบออนไลน์
ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : ดร.ณฐภศา เดชานุเบกษา
SDG ที่เกี่ยวข้อง































