
การพัฒนานวัตกรรมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน และมีพันธกิจที่สำคัญในการพัฒนาชุมชน 2 พันธกิจ ได้แก่ 1. พัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพ สภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ส่งเสริม ทำนุบารุง พื้นฟู ศิลปะและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี โดยน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ และ 2. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเสริมสร้าง ความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนให้มีคุณธรรมและความสามารถในการบริหารงานเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม และดำเนินการตามพันธกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
รูปแบบ "วิศวกรสังคม” เป็นรูปแบบที่ช่วยให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นทำงานตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น สร้างนักศึกษาเป็น "วิศวกรสังคม" เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีวิสัยทัศน์ที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ที่พร้อมสร้างระบบแนวคิดการพัฒนาทักษะแบบใหม่ให้กับนักศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จึงได้นำแนวคิด "วิศวกรสังคม” มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนานักศึกษา ซึ่งเชื่อว่าวิศวกรสังคมนั้นจะสร้างให้นักศึกษามีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบ มีเหตุและผล สามารถนำความรู้ไปพัฒนาตนเองและสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีคุณลักษณะหลัก 4 ประการ คือ 1. นักศึกษาต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลเห็นปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย 2. การนำความรู้ที่เรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน สามารถสื่อสารองค์ความรู้ที่เรียนมาเพื่อนำไปแก้ปัญหาให้กับชุมชนได้ 3. การทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถระดมกำลังไม่ว่าจะภายในท้องถิ่นหรือนอกท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นได้ และ 4. มีทักษะในการสร้างนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นได้
จังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพที่เหมาะสมในการทำการเกษตร ที่ชุมชนท้องถิ่นมความหลากหลายในการทำการเกษตร ได้แก่ ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ปลูกพริก ปลูกมะม่วง รวมทั้งผลไม้อื่น และปลูกข้าว ในการปลูกพืชจำเป็นต้องมีน้ำที่เพียงพอให้พืช เจริญเติบโตและให้ผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรตลอดทั้งปี ทำให้ต้องขุดเจาะบ่อบาดาล และขุดสระน้ำมาใช้เพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ซึ่งค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่อนข้างสูงมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตพืชสูงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรและสร้างรายได้ของเกษตรกรในชุมชนเป็นอย่างมาก
คณะผู้ดำเนินโครงการได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในใช้กระบวนการวิศวกรสังคม พันธกิจของมหาวิทยาลัยในการรับใช้ชุมชนท้องถิ่น ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ชุมชนในด้านการนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปพัฒนาชุมชน และการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมไปส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนในชุมชน หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลดาวเทียมประกอบการตรวจวัดภาคพื้นดินของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย ซึ่งมีความเข้มรังสีแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 14.2 เมกะจูลต่อตารางเมตร ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการเกษตรด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งคณะผู้วิจัยเชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตลงมาและเพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการน้ำในแปลงเกษตรกรรมได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึงและเพียงพออย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพได้มากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยยันต์ สกุลไทย
SDG ที่เกี่ยวข้อง














