
โครงการพัฒนาคุณภาพสังคมด้วยเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมทางเพศในสถานศึกษาและชุมชน
หลักการและเหตุผล
ในสังคมปัจจุบันปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมที่มีผลกระทบทั่วโลก สำหรับประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่มีผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสถิติในรอบ 3ปี ตั้งแต่ 2564-2566 พบว่าเด็กและเยาวชน ถูกล่วงละเมิดทั้งสิ้น 1,097 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขที่มีการแจ้งความเป็นคดี โดยบางส่วน คาดว่ามากกว่าร้อยละ 50 นั้น อาจจะไม่มีการแจ้งความ แต่หากคำนวณในรอบ 3 ปี หรือ 1,096 วัน ค่าเฉลี่ยคือทุกๆวัน อาจจะมีเด็กหนึ่งคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยกว่าร้อยละ 88 นั้น เป็นเพศหญิง(กระทรวงพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์,2566) ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้พยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหา โดยการยื่นสัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรและพิธีสารเพื่อป้องกัน ปรามปราบ และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเด็กและสตรี ตามพิธีสารฯ ข้อ 3 กล่าวว่า “การค้ามนุษย์” หมายถึง การรับไว้ซึ่งบุคคลในรูปแบบอื่นใด ด้วยการลักพาตัว หลอกลวง หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อมุ่งประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่นหรือการแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น ซึ่งกำหนดให้การค้ามนุษย์เป็นความผิดทางอาญาและกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการป้องกันอาชญากรรมการค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก
จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ที่มีความจำเป็นในการเฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรมทางเพศและอาชญากรรมออนไลน์ ทั้งนี้เพราะ เป็นจังหวัดศูนย์กลางทางการศึกษา มีเยาวชนหลั่งไหลเข้ามาศึกษาต่อเป็นจำนวนมากทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดด้านอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งนับวันมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับหลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับ ส่วนเครือข่ายการป้องกันการเกิดอาชญากรรมคดีพิเศษ กองนโยบายและยุทธศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ บูรณาความร่วมมือกับมูลนิธิ MAST Human Social Enterprise และมูลนิธิ เอ-ทเวนตี้วัน (A21) จึงจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพสังคมด้วยเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมทางเพศในสถานศึกษาและชุมชน ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศและมีความเข้าใจถึงเทคนิค วิธีการป้องกันตนเอง คนในครอบครัว เพื่อน ชุมชนและท้องถิ่นจากอาชญากรรมทางเพศอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ และเพื่อพัฒนาคุณภาพสังคมด้วยการสร้างเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมอาชญากรรมออนไลน์ในสถานศึกษาและชุมชน โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญหนึ่งในการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อรังสรรค์สิ่งที่ถูกต้อง คืนเยาวชนที่มีความสุข เปี่ยมด้วยคุณภาพอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนและประเทศชาติต่อไป
วัตถุประสงค์
1) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศและมีความเข้าใจถึงเทคนิควิธีการป้องกันตนเอง คนในครอบครัว เพื่อน ชุมชนและท้องถิ่นจากอาชญากรรมทางเพศอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ
2) เพื่อพัฒนาคุณภาพสังคมด้วยการสร้างเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมอาชญากรรมออนไลน์ในสถานศึกษาและชุมชน โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติและนานาชาติ
ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : อาจารย์อาภาภรณ์ จวนสาง