โครงการเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน  ตามเกณฑ์ EdPEx

โครงการเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ตามเกณฑ์ EdPEx

มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และแผนด้านการอุดมศึกษา โดยมหาวิทยาลัยฯ มีการดำเนินการด้านประกันคุณภาพการศึกษาภายในที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 และกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ข้อ 3 ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดยกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติหรือระดับนานาชาติได้ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้นำเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence : EdPEx) มาเป็นแนวทางกำหนดกรอบในการพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศ โดยได้เสนอขออนุมัติใช้เกณฑ์ EdPEx ในการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสถาบัน และคณะ หน่วยงาน ในปีการศึกษา 2565 ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในคราวการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เพื่อพิจารณาเห็นชอบการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) มาใช้ในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาภายใน โดยมีการประเมินผลการดำเนินงานใน 7 หมวด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้เริ่มนำเกณฑ์ EdPEx มาใช้ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามสู่ความเป็นเลิศ เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทัดเทียมและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติได้
สำนักมาตรฐานและประกันคุณภาพ ได้จัดโครงการเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ตามเกณฑ์ EdPEx ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 2 กิจกรรม ดังนี้ 1) กิจกรรมที่ 1 การจัดทำโครงร่างองค์กร (Organization Profile : OP) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน ปีการศึกษา 2566 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ห้องประชุมรองศาสตราจารย์ ดร.นิรุต ถึงนาค 1 ชั้น 4 อาคารศูนย์กลางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และ 2) กิจกรรมที่ 2 การวิพากษ์รายงานผลการประเมินตนเอง (Self-Assessment Report : SAR) ตามเกณฑ์ EdPEx เมื่อวันที่ 8 - 9 สิงหาคม 2567 ห้องประชุมรองศาสตราจารย์ ดร.นิรุต ถึงนาค 1 ชั้น 4 อาคารศูนย์กลางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ตามมาตรา 47 และมาตรา 48 เพื่อให้สอดคล้องตามกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ข้อ 3 เพื่อให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence : EdPEx) เพื่อให้การดำเนินการการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามบรรลุผลสำเร็จและเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามทุกปีการศึกษา ซึ่งมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
ผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดโครงการ จำนวน 3 ตัวชี้วัด ดำเนินการบรรลุเป้าหมายทุกตัวชี้วัด ประกอบด้วย (1) คะแนนการประเมินคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์ EdPEx ผลการดำเนินงาน N/A เนื่องจากในปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยยังไม่รับการตรวจประเมินตามเกณฑ์ EdPEx ซึ่งจะรับการประเมินในปีการศึกษา 2567 (2) ระดับความสำเร็จในการยกระดับการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสู่ความเป็นเลิศ ผลการดำเนินงาน ระดับ 5 และ (3) ระดับความสำเร็จในการส่งเสริมการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาด้วยระบบ EdPEx ผลการดำเนินงาน ระดับ 1
จากผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ พบว่า
กิจกรรมที่ 1 การจัดทำโครงร่างองค์กร (Organization Profile : OP) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับสถาบัน ปีการศึกษา 2566 ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.79) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ ด้านการให้บริการของเจ้าหน้าที่ อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.90) รองลงมา คือ ด้านการดำเนินกิจกรรม อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.78) และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.76) ตามลำดับ
กิจกรรมที่ 2 การวิพากษ์รายงานผลการประเมินตนเอง (Self-Assessment Report : SAR) ตามเกณฑ์ EdPEx ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.95) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ ด้านการให้บริการของเจ้าหน้าที่ อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.96) รองลงมา คือ ด้านวิทยากรบรรยายพิเศษ อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.95) และด้านสิ่งอำนวยความสะดวก อยู่ในระดับมากที่สุด (x = 4.93) ตามลำดับ

ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : อาจารย์กุณฑีรา อาษาศรี

SDG ที่เกี่ยวข้อง
SDGs RMU