โครงการสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

โครงการสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

สหกิจศึกษา (Cooperative Education) คือ ระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ (Work Based Learning) อย่างเป็นระบบ หรือการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning: WIL) เพื่อให้นักศึกษาได้เพิ่มพูนประสบการณ์จริงและทักษะวิชาชีพ โดยจัดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งนักศึกษาจะต้องปฏิบัติงานจริงเต็มเวลาตรงตามสาขาวิชาชีพ ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน และพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการมากที่สุด การส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัย โดยมีสหกิจศึกษาเป็นผู้ประสาน จึงเป็นกลไกทางวิชาการที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน
กระบวนการสหกิจศึกษา ก่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ โดยสถานประกอบการจะจัดหาพี่เลี้ยงหรือผู้นิเทศงานในสถานประกอบการทำหน้าที่กำกับและดูแลการทำงานของนักศึกษา
ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานของนักศึกษาสหกิจศึกษา อาจได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ หรือค่าตอบแทนอื่นตามความเหมาะสมจากสถานประกอบการ และช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานได้ตลอดเวลา ในขณะที่สถานประกอบการจะได้แรงงานจากนักศึกษาที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ หรือได้บัณฑิตที่พึงประสงค์ไปร่วมองค์กรในอนาคต และสร้างจริยธรรมในวิชาชีพที่พึงปรารถนา ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยยังไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลของสหกิจศึกษาอย่างเป็นระบบ ยังใช้งานในระบบกระดาษ ทำให้การทำงานล้าช้า และมีความเสี่ยงในการทำเอกสารหาย อีกทั้งในส่วนของบุคลากรส่วนมากยังไม่ได้รับการอบรมหลักสูตรคณาจารย์นิเทศ CWIE ทำให้ยังไม่มีประสบการณ์ในการนิเทศนักศึกษา นอกจากนี้การสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการแสดงออก ในการนำเสนอผลงานที่ได้ปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการยังมีไม่เพียงพอ
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้เล็งเห็นความจำเป็นและความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดโครงการส่งเสริมงานสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ขึ้นเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการสหกิจศึกษาในรูปแบบออนไลน์
เพื่อให้งานสหกิจศึกษาดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนออกปฏิบัติสหกิจศึกษา อีกทั้งมีการอบรมสัมมนาเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการให้ยั่งยืน และเมื่อดำเนินการงานเสร็จสิ้นทางมหาวิทยาได้มีการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมสหกิจศึกษาระดับชาติต่อไป
วัตถุประสงค์
1 เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการงานสหกิจศึกษา
2 เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนออกปฏิบัติสหกิจศึกษา
3 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้เกิดทักษะความเชี่ยวชาญในสายวิชาชีพ
4 เพื่อสร้างเวทีสรุปผลงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลังปฏิบัติการสหกิจศึกษาเสร็จสิ้น
5 เพื่อบริการจัดการงานด้านสหกิจศึกษาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : อาจารย์ ดร.วีระพน ภานุรักษ์

SDG ที่เกี่ยวข้อง
SDGs RMU