Isan Gastronomy : การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเมนูฟิวชั่นอีสานพื้นถิ่น

Isan Gastronomy : การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเมนูฟิวชั่นอีสานพื้นถิ่น

โครงการ Isan Gastronomy : การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเมนูฟิวชั่นอีสานพื้นถิ่น มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาภูมิปัญญาด้านการผลิตอาหารพื้นถิ่นตามอัตลักษณ์ของชุมชนภาคอีสาน 2) เพื่อพัฒนาเมนูอาหารพื้นถิ่นอีสานฟิวชัน สู่การท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ 3) เพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มความรู้ให้กับบุคลากรในชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้านการบริหารจัดการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 4) เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเมนูฟิวชั่นอีสานพื้นถิ่น และ 5) เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ หลักสูตรฯ มีการบูรณาการการเรียนการสอนผ่านการบริการวิชาการ ร่วมกันกับชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ ได้รับจัดสรรงบประมาณจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โครงการหลักที่ 2 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งทางผู้รับผิดชอบโครงการได้มีการบูรณาการการเรียนการสอนและการวิจัย ร่วมกับการบริการวิชาการ เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนและสังคม สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่า “เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสังคม” อีกทั้งนักศึกษาในสาขาวิชาฯ ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติในชุมชน ซึ่งถือเป็นห้องเรียนภายนอกมหาวิทยาลัยที่สำคัญ นำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ต่อสถานประกอบการและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ผู้รับผิดชอบโครงการจึงเล็งเห็นประโยชน์ว่าการพัฒนาเมนูอาหารพื้นถิ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่น ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเมนูพื้นถิ่นอีสาน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท่องเที่ยวหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ให้ข้อมูลและร่วมออกแบบพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารไปพร้อมกับผู้รับผิดชอบโครงการ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดที่ให้การสนับสนุนในเชิงนโยบาย แนวทางสู่การพัฒนามาตรฐาน และร่วมผลักดันให้ชุมชนท่องเที่ยวในเขตจังหวัดมหาสารคามได้พัฒนาตนเองสู่ความยั่งยืน อีกทั้งผู้รับประโยชน์โดยตรงคือนักท่องเที่ยว ซึ่งจะได้รับประสบการณ์ และการเรียนรู้ผ่านเมนูอาหารพื้นถิ่น ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และขณะเดียวกันสามารถใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีความรัก ภาคภูมิใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของตนเองต่อไป ซึ่งในโครงการจะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 พัฒนาศักยภาพและเพิ่มความรู้ให้กับบุคลากรในชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้านการบริหารจัดการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร
กิจกรรมที่ 2 ศึกษาภูมิปัญญาด้านการผลิตอาหารพื้นถิ่นตามอัตลักษณ์ของชุมชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
กิจกรรมที่ 3 พัฒนาเมนูอาหารพื้นถิ่นอีสานฟิวชันด้วยวัตถุดิบในชุมชน
กิจกรรมที่ 4 นำเสนอแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างสร้างสรรค์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวและเมนูอาหารพื้นถิ่นอีสานฟิวชัน
เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 27 คน (100 %) แบ่งเป็นเพศหญิง 25 คน (ร้อยละ 95.59) เพศชาย 2 คน (ร้อยละ 7.41) มีสถานภาพเป็น เกษตรกร 15 คน (ร้อยละ 55.55) นักศึกษา 10 คน (ร้อยละ 37.04) อาจารย์มหาวิทยาลัย 2 คน (ร้อยละ 7.41) ผู้เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจของท่านต่อภาพรวมของโครงการอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.86) และมีข้อเสนอแนะ คือ เป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์ และควรจัดโครงการที่ให้ความรู้ในด้านอื่นๆเพิ่มเติมและเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น

ผู้รับผิดชอบ ให้ข้อมูล : อาจารย์นริศรา คำสิงห์

SDG ที่เกี่ยวข้อง
SDGs RMU